"โดยที่หนังสือเล่มนี้มาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะมีชื่อนักคิดและนักทฤษฎีทางสังคมวิทยาที่ผู้อ่านทั่วไปซึ่งไม่ใช่นักวิชาการอาจจะไม่รู้จัก และเป็นธรรมดาอยู่เองที่ทฤษฎีซึ่งอาจารย์ไชยันต์ใช้เป็นฐานในการวิเคราะห์การก่อรูปของรัฐไทยอาจจะยากแก่การทำความเข้าใจอยู่บ้าง แม้กระนั้น การยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมาประกอบฐานคิดในทางทฤษฎีก็ช่วยให้ผู้อ่านสามารถติดตามข้ออภิปรายได้อย่างสนุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉายภาพความสัมพันธ์ทางชนชั้นระหว่างเจ้า ขุนนาง เจ้าท้องถิ่น ตลอดจนนายซึ่งเป็นข้อต่อทางการเมืองระหว่างชนชั้นปกครองกับไพร่ การฉายภาพของการถ่ายโอนอำนาจจากนายไปยังเจ้าภาษีนายอากร การชี้ให้เห็นการเปลี่ยนระบบการลงโทษแบบเจ้าศักดินาเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายสมัยใหม่ และที่สำคัญที่สุดก็คือการพิเคราะห์รัฐในสยามในฐานะที่เป็นรัฐในระบบทุนนิยมรอบนอก"
— บางส่วนจากคำนำเสนอโดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์